การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 (NSC 18)
รางวัลที่ 2 ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง ระดับนิสิต นักศึกษา
รางวัลจากการเขียนโค้ด・มี.ค. 2016
การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ NSC ถือเป็นการแข่งขันที่ผมสนใจมาเป็นเวลานาน ด้วยความสนใจจึงสมัครเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ม.4 แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมประกวดผลงาน จนกระทั่งผมเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของห้องวิจัย Pupa ที่จัดตั้งโดย ผศ. สุธน แซ่ว่อง อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นห้องวิจัยที่รวบรวมนักศึกษาที่สนใจในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ผมจึงศึกษาวิธีการและทักษะการนำเสนอในการแข่งขัน NSC จากรุ่นพี่ในห้องวิจัยที่เคยส่งผลงานเข้าประกวดและเคยได้รับรางวัลมาแล้ว

ในปี 2016 ผมได้ร่วมทีมกับรุ่นพี่ในห้องวิจัยและส่งข้อเสนอเข้าประกวดผลงานด้วย ปาร์ตี้ลิงค์ ซึ่งเป็นเกมปาร์ตี้สำหรับเล่นในครัวเรือน โดยใช้เพียง โทรศัพท์มือถือ ของผู้เล่น และทีวีหรือจอแสดงผล 1 เครื่อง สามารถเล่นได้พร้อมกัน 2-4 คนโดยจะแบ่งเป็น 2 ทีมแข่งขันกันใน mini game ต่าง ๆ ที่มีถึง 5 เกมส์ ทีมที่ชนะ mini game ถึง 3 เกมส์ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ

ข้อเสนอของทีมผมได้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน NSC ครั้งที่ 18 ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง ในระดับภูมิภาค ภาคใต้ ที่จัดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2016 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

และได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันต่อในรอบชิงชนะเลิศในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (Thailand IT Contest Festival 2016) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม 2016 ณ หอประชุมมหิศร อาคารเอสซีบีพาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) [1] [2]

เกมปาร์ตี้ลิงค์ ได้รับความสนใจจากผู้คนภายในงานเป็นจำนวนมาก และมีคนเข้ามาร่วมเล่นเกมอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ผลการแข่งขันในครั้งนี้ เกมปาร์ตี้ลิงค์ ได้รับรางวัลที่ 2 โดยแพ้ให้กับเกม Timelie ที่ต่อมาถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีก 5 ปีจนเป็นที่โด่งดังและได้วางขายบน steam ในปัจจุบัน[3]

ห้องวิจัย Pupa ได้จัดโครงการ NSC Young Training เพื่ออบรมและให้ความรู้ต่อนักเรียน นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมแข่งขัน NSC ประเภทโปรแกรมเพื่อความบันเทิง โดยเน้นการให้ความรู้และสอนทักษะเกี่ยวกับการสร้างเกมเป็นหลัก ซึ่งในปี 2016 ผมได้มีโอกาสเป็นวิทยากรและผู้ช่วยอบรมในโครงการนี้ด้วย

อ้างอิง:
1. AAG_th บันทึกประจำวัน. (29 มีนาคม 2016). โปรแกรมเพื่อความบันเทิงในงาน NSC 2016.
2. เนคเทค สวทช. (5 ตุลาคม 2016). ประกาศผลสุดยอดผลงาน มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 15.
3. ร้านค้าบน Steam. เกม Timelie.